การตรวจด้วยกล้องขยายทางช่องคลอด

การตรวจด้วยกล้องขยายทางช่องคลอด-01.jpg

การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (colposcopy) ประโยชน์อย่างมากในการตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่ม โดยทั่วไปนิยมส่องกล้องตรวจในผู้ป่วยที่พบความผิดปกติจากการตรวจ pap smear ความแตกต่างของการตรวจทั้งสองวิธีอยู่ที่ว่าการตรวจ pap smear เป็นการตรวจเซลล์ ส่วนการส่องกล้อง colposcopy เป็นการตรวจส่องกล้องแล้วนำเนื้อเยื่อที่ผิดปกติมาตรวจทางพยาธิวิทยา

ข้อบ่งชี้สำหรับการส่องกล้องตรวจปากมดลูก

การตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจ pap smear ซึ่งเซลล์ที่พบว่าผิดปกติอาจเป็นเซลล์มะเร็ง หรือไม่ใช่เซลล์มะเร็ง เช่นเกิดจากการติดเชื้อภายในบริเวณช่องคลอดและปากมดลูก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยืนยันการวินิจฉัยโดยทำการตรวจเพิ่มเติม หากพบว่าเป็นมะเร็งแพทย์ก็จะสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงทีตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

วิธีการส่องกล้องตรวจปากมดลูก

แพทย์จัดท่าของผู้ป่วยเช่นเดียวกับการตรวจภายในตามปกติ เมื่อใช้ speculum ถ่างขยายช่องคลอดจนสามารถมองเห็นปากมดลูกได้ชัดเจนแล้ว จากนั้นล้างภายในบริเวณช่องคลอดด้วยน้ำยากรดอะซิติก น้ำยาช่วยทำให้เนื้อเยื่อที่ผิดปกติเปลี่ยนเป็นสีขาวมองเห็นได้ค่อนข้างชัด เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกที่ผิดปกติจะเห็นเป็นสีขาวแตกต่างจากบริเวณอื่นโดยรอบ แพทย์จึงสามารถตัดชิ้นเนื้อส่วนทีผิดปกติออกมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้อย่างแม่นยำ

จุดประสงค์ของการตรวจด้วยคอลโปสโคปในสตรีที่มีผล Pap smear ผิดปกติมี 3 ประการคือ

–  เพื่อตรวจแยกว่าไม่มีมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม

–   เพื่อตรวจหารอยโรคขั้นสูงได้แก่ พยาธิสภาพ CIN2,3 และ adenocarcinoma in situ (AIS) ซึ่งต้องทำการการรักษาไม่ให้รอยโรคคืบหน้าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม

–  เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไปเช่น ถ้าผล Pap smear เป็น ASC- US   หรือ LSIL และการตรวจด้วยคอลโปสโคปไม่พบรอยโรคสามารถตรวจติดตามดูการดำเนินโรคได้ทุก 6เดือน หรือถ้าผล Pap smear เป็น HSIL และผลการตรวจด้วยคอลโปสโคปไม่เห็น transformation zone หรือเห็น transformation zone ได้ไม่หมดหรือเห็นรอยโรคได้ไม่หมดควรทำการตัดปากมดลูกเพื่อการวินิจฉัย (diagnostic excision) ต่อไป

ข้อบ่งห้ามของการตรวจด้วยคอลโปสโคป

1.สตรีที่กำลังมีเลือดประจำเดือนออกมาก

2.ปากมดลูก ช่องคลอด หรือปากช่องคลอดอักเสบแบบเฉียบพลันหรือรุนแรง ควรตรวจหาสาเหตุและรักษาให้หายก่อนเพราะการตรวจและการตัดชิ้นเนื้ออาจทำให้ตกเลือด เจ็บปวด และไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ นอกจากนี้การอักเสบอาจทำให้ความแม่นยำของการตรวจลดลง

3.สตรีที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอาจจะต้องหยุดยาหลายวันก่อนทำ cervical biopsy หรือ endocervical curettage

4.การตั้งครรภ์ไม่ได้เป็นข้อบ่งห้ามของการตรวจด้วยคอลโปสโคป แต่การสืบค้นอาจจะต้องมีการ

ปรับเปลี่ยน เช่น หลีกเลี่ยงการทำ biopsy ถ้าการตรวจไม่สงสัยมะเร็งระยะลุกลามและไม่ควรทำ endocervical curettage สตรีหลังวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทนอาจจะต้องให้ฮอร์โมนเอส

โตรเจนทาหรือรับประทาน 3 สัปดาห์ก่อนการตรวจ ควรให้งดการมีเพศสัมพันธ์ การสอดยาหรือผ้าอนามัยใน

ช่องคลอด 24 ชั่วโมงก่อนการตรวจ

การให้คำแนะนำหลังการตรวจ

  1. ภายหลังการตรวจด้วยคอลโปสโคปผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติแนะนำให้ดึงผ้ากอซที่ใส่ประจุไว้ในช่องคลอดออกหลังการตรวจประมาณ 3 ชั่วโมง สังเกตเลือดออกทางช่องคลอด ภายหลังการตัดเนื้อออกตรวจอาจจะมีเลือดออกมาเล็กน้อยได้ประมาณ 1 – 3 วัน ถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติให้กลับมาที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการห้ามเลือด
  2. ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการตกเลือดและการติดเชื้อ
  3. ไม่ควรสวนล้างหรือใส่ผ้าอนามัยชนิดสอดในช่องคลอดในช่วง7 วันแรกหลังการตรวจ

Leave a comment