การติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัสคืออะไร? (Norovirus)

141259-01.jpg

เป็นอีกหนึ่งโรคที่กำลังระบาดอยู่ช่วงนี้ จริงๆ แล้วเป็นโรคที่สามารถติดต่อ หรือเป็นกันได้ตลอด เพราะเป็นโรคติดต่อทางเดินอาหาร ตามโรงเรียน หรืออนุบาลที่มีเด็กๆ อยู่รวมกันเยอะๆ ต้องระวังให้มากโดยเฉพาะเรื่องความสะอาด สุขอนามัย ตอนนี้เห็นว่ามีเด็กๆ ป่วยกันเยอะ ยิ่งต้องระวังให้มาก วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอาการท้องเสีย หรือ โนโรไวรัสกันเถอะ

การติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส (Norovirus) ซึ่งมีชื่อเดิมว่า Norwalk virus เป็นสาเหตุของการระบาดของการติดเชื้อท้องเสียที่ไม่ใช่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยที่สุดในโลก การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อน หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีการปนเปื้อน เช่น จาน ชาม ช้อน นั่นเอง

อาการการติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส (Norovirus) ที่พบบ่อยคือเชื้อไวรัส,โนโรไวรัส,ท้องเสีย,ไวรัสท้องเสีย,Norovirus,โรคทางเดินอาหาร

-คลื่นไส้ อาเจียน ค่อนข้างรุนแรง

-ถ่ายเหลวเป็นน้ำ

– ปวดท้อง

-ปวดศีรษะ

-มักมีไข้ต่ำๆร่วมด้วย แต่บางรายอาจมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสได้

-อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว

แม้ว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนจะดูรุนแรงพอสมควร แต่การตรวจร่างกายมักจะไม่มีอาการปวดเฉพาะที่หรือปวดเกร็งของหน้าท้องในการตรวจร่างกาย ทำให้พอวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุอื่นๆที่มีอาการและอาการแสดงที่คล้ายกัน เช่น ภาวะลำไส้กลืนกัน ไส้ติ่งอักเสบ การติดเชื้ออาหารเป็นพิษด้วยเชื้ออื่นๆ สำหรับรายที่มีอาการอาเจียนและถ่ายเป็นน้ำเยอะ ผู้ป่วยอาจมีอาการของการขาดน้ำ เช่น มีไข้ ดูเพลียมาก มีชีพจรเบาเร็ว และมีความดันโลหิตต่ำได้

การรักษาการติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส (Norovirus) ในปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการดูแลตามอาการ และส่วนใหญ่อาการต่างๆจะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน

  • ในรายที่อาการไม่รุนแรง ก็ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) หรือที่เรียกกันว่า เกลือซอง สำหรับดื่มในกรณีที่มีอาเจียนและท้องเสีย ทานอาหารอ่อน และ ให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ตามอาการ
  • ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด ก็อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำทำให้เกิดช็อค ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ จึงควรพิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวใน ร.พ. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด

ผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆอยู่แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ

Enforcing food safety practices in the food service industry can help prevent #norovirus outbreaks.

การป้องกันโดยทั่วไปคือการใส่ใจในสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อนี้ได้ เพราะเป็นโรคที่ติดต่อง่ายมาก วิธีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ  คือ

1.ล้างมือให้สะอาดหลังการใช้ห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม

2.หลีกเลี่ยงน้ำ และอาหารที่ไม่สะอาด เพราะเชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในน้ำได้นาน

3.ล้างผักและผลไม้ก่อนรับประทานอาหาร

4.ปรุงอาหารให้สุก

5.ทิ้งเศษอาเจียนและอุจจาระอย่างระมัดระวังโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆซับไม่ให้มีการฟุ้งกระจาย และทิ้งลงในถุงพลาสติก

6.ฆ่าเชื้อไวรัสในพื้นที่ปนเปื้อนด้วยสารละลายคลอรีน

7.ผู้ป่วยงดการทำอาหาร เพราะคุณสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ใน 3 วัน

8.เด็กควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

9.หลีกเลี่ยงการเดินทางจนกว่าจะหายดี

วัคซีน“ไข้หวัดใหญ่” สำคัญอย่างไร

วัคซีนไข้หวัดใหญ่.jpg

สายฝนที่โปรยปรายกับอากาศชื้น ๆ แบบนี้หลายคนคงจะป่วยกันอยู่บ่อยๆ ใช่ไหมคะ บางคนอาจเป็นไข้หวัด แต่บางคนเป็นถึง “โรคไข้หวัดใหญ่” กันเลยทีเดียว เพราะโรคนี้แพร่ระบาดได้ง่าย แค่หายใจ ไอ จาม ก็พาลให้คนรอบข้างป่วยตามได้แล้ว แต่ถ้าเราฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ ก็ช่วยลดความเสี่ยงให้เราได้เหมือนกัน วันนี้เรามาทำความรู้จักกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กันค่ะ

ไข้หวัดใหญ่ (flu) เป็นโรคที่ติดต่อได้อย่างกว้างขวางซึ่งจะ ระบาดทุกฤดูหนาวทั่วสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากบุคคลหนึ่งถึงบุคคลหนึ่งโดยแพร่จากการไอ จามและการสัมผัส ใคร ๆ ก็สามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ สามารถติดได้อย่างรวดเร็วและอาจเป็นอยู่หลายวัน อาการที่เป็นขึ้นอยู่กับอายุ แต่อาจรวมถึง

  • มีไข้หนาวสั่น
  • เจ็บคอ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • เมื่อยล้าอ่อนเพลีย
  • ไอ
  • ปวดศีรษะ
  • นํ้ามูกไหลหรือคัดจมูก

ไข้หวัดใหญ่สามารถทําให้เกิดปอดบวมและการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้ รวมทั้งทําให้เกิดอาการท้องเสียและชักในเด็กได้ ไข้หวัดใหญ่จะทําให้ท่านมีอาการแย่ลงหากท่านมีโรคประจําตัว เช่นโรคหัวใจหรือโรคปอด บุคคลบางคนเมื่อเป็นไข้ หวัดใหญ่จะป่วยมากกว่าผู้อื่น บุคคล เหล่านี้คือทารก เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางชนิดหรือระบบภูมิต้านทานต่ำ

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดฉีด ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยผ่านกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ฉีดวัคซีนแล้วยังอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้แต่อาการจะน้อยลง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ป้องกันไข้หวัดทั่วไปที่เกิดจากเชื้ออื่นๆ สามารถฉีดได้ตลอดปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และ   ก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาด ต้องฉีดซ้ำทุก 1 ปี ถ้าต้องการป้องกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ที่รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นปีแรกควรได้รับ 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน

บุคคลใดที่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับวัคซีน.

  • เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
  • ผู้ป่วยแพ้ไข่ขาว
  • แพ้วัคซีน influenza vaccine
  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติเป็น Guillain-Barre Syndrome
  • ขณะที่กำลังมีไข้สูง

อาการข้างเคียง

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ อาจจะมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ปวดเมื่อย มักจะเริ่มไม่นานหลังฉีด อาการดังกล่าว ควรหายภายใน 1-2 วันการแพ้ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตมีน้อยมาก ถ้าหากเกิดขึ้นจะปรากฎภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมงหลังฉีด   โดยอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ หากปวด บวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบด้วยผ้าเย็น หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม หากมีอาการรุนแรง หรือเป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันทีและแจ้งอาการให้ทราบโดยละเอียด

 

การตรวจด้วยกล้องขยายทางช่องคลอด

การตรวจด้วยกล้องขยายทางช่องคลอด-01.jpg

การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (colposcopy) ประโยชน์อย่างมากในการตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่ม โดยทั่วไปนิยมส่องกล้องตรวจในผู้ป่วยที่พบความผิดปกติจากการตรวจ pap smear ความแตกต่างของการตรวจทั้งสองวิธีอยู่ที่ว่าการตรวจ pap smear เป็นการตรวจเซลล์ ส่วนการส่องกล้อง colposcopy เป็นการตรวจส่องกล้องแล้วนำเนื้อเยื่อที่ผิดปกติมาตรวจทางพยาธิวิทยา

ข้อบ่งชี้สำหรับการส่องกล้องตรวจปากมดลูก

การตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจ pap smear ซึ่งเซลล์ที่พบว่าผิดปกติอาจเป็นเซลล์มะเร็ง หรือไม่ใช่เซลล์มะเร็ง เช่นเกิดจากการติดเชื้อภายในบริเวณช่องคลอดและปากมดลูก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยืนยันการวินิจฉัยโดยทำการตรวจเพิ่มเติม หากพบว่าเป็นมะเร็งแพทย์ก็จะสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงทีตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

วิธีการส่องกล้องตรวจปากมดลูก

แพทย์จัดท่าของผู้ป่วยเช่นเดียวกับการตรวจภายในตามปกติ เมื่อใช้ speculum ถ่างขยายช่องคลอดจนสามารถมองเห็นปากมดลูกได้ชัดเจนแล้ว จากนั้นล้างภายในบริเวณช่องคลอดด้วยน้ำยากรดอะซิติก น้ำยาช่วยทำให้เนื้อเยื่อที่ผิดปกติเปลี่ยนเป็นสีขาวมองเห็นได้ค่อนข้างชัด เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกที่ผิดปกติจะเห็นเป็นสีขาวแตกต่างจากบริเวณอื่นโดยรอบ แพทย์จึงสามารถตัดชิ้นเนื้อส่วนทีผิดปกติออกมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้อย่างแม่นยำ

จุดประสงค์ของการตรวจด้วยคอลโปสโคปในสตรีที่มีผล Pap smear ผิดปกติมี 3 ประการคือ

–  เพื่อตรวจแยกว่าไม่มีมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม

–   เพื่อตรวจหารอยโรคขั้นสูงได้แก่ พยาธิสภาพ CIN2,3 และ adenocarcinoma in situ (AIS) ซึ่งต้องทำการการรักษาไม่ให้รอยโรคคืบหน้าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม

–  เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไปเช่น ถ้าผล Pap smear เป็น ASC- US   หรือ LSIL และการตรวจด้วยคอลโปสโคปไม่พบรอยโรคสามารถตรวจติดตามดูการดำเนินโรคได้ทุก 6เดือน หรือถ้าผล Pap smear เป็น HSIL และผลการตรวจด้วยคอลโปสโคปไม่เห็น transformation zone หรือเห็น transformation zone ได้ไม่หมดหรือเห็นรอยโรคได้ไม่หมดควรทำการตัดปากมดลูกเพื่อการวินิจฉัย (diagnostic excision) ต่อไป

ข้อบ่งห้ามของการตรวจด้วยคอลโปสโคป

1.สตรีที่กำลังมีเลือดประจำเดือนออกมาก

2.ปากมดลูก ช่องคลอด หรือปากช่องคลอดอักเสบแบบเฉียบพลันหรือรุนแรง ควรตรวจหาสาเหตุและรักษาให้หายก่อนเพราะการตรวจและการตัดชิ้นเนื้ออาจทำให้ตกเลือด เจ็บปวด และไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ นอกจากนี้การอักเสบอาจทำให้ความแม่นยำของการตรวจลดลง

3.สตรีที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอาจจะต้องหยุดยาหลายวันก่อนทำ cervical biopsy หรือ endocervical curettage

4.การตั้งครรภ์ไม่ได้เป็นข้อบ่งห้ามของการตรวจด้วยคอลโปสโคป แต่การสืบค้นอาจจะต้องมีการ

ปรับเปลี่ยน เช่น หลีกเลี่ยงการทำ biopsy ถ้าการตรวจไม่สงสัยมะเร็งระยะลุกลามและไม่ควรทำ endocervical curettage สตรีหลังวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทนอาจจะต้องให้ฮอร์โมนเอส

โตรเจนทาหรือรับประทาน 3 สัปดาห์ก่อนการตรวจ ควรให้งดการมีเพศสัมพันธ์ การสอดยาหรือผ้าอนามัยใน

ช่องคลอด 24 ชั่วโมงก่อนการตรวจ

การให้คำแนะนำหลังการตรวจ

  1. ภายหลังการตรวจด้วยคอลโปสโคปผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติแนะนำให้ดึงผ้ากอซที่ใส่ประจุไว้ในช่องคลอดออกหลังการตรวจประมาณ 3 ชั่วโมง สังเกตเลือดออกทางช่องคลอด ภายหลังการตัดเนื้อออกตรวจอาจจะมีเลือดออกมาเล็กน้อยได้ประมาณ 1 – 3 วัน ถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติให้กลับมาที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการห้ามเลือด
  2. ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการตกเลือดและการติดเชื้อ
  3. ไม่ควรสวนล้างหรือใส่ผ้าอนามัยชนิดสอดในช่องคลอดในช่วง7 วันแรกหลังการตรวจ

คุณแม่มือใหม่เก็บรักษาน้ำนมอย่างไรให้ถูกต้อง

คุณแม่มือใหม่เก็บรักษาน้ำนมอย่างไรให้ถูกต้อง

สำหรับคุณแม่หลาย ๆ ท่านที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานเมื่อคลอดลูกได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น  ตามหลักการลาคลอดของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นเรื่อง การปั๊มนมแม่ และ การเก็บรักษานมแม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านควรรู้ไว้ค่ะ

เริ่มแรกเรามารู้จักกับ อุปกรณ์ในการปั๊มนมแม่และเก็บน้ำนม กันนะคะ

  1. เครื่องปั๊มนม ทั้งแบบไฟฟ้า แบบใช้แบตเตอร์รี่ หรือแบบปั๊มมือธรรมดา หรือมือของคุณแม่เอง
  2. ถุงเก็บน้ำนม หรือขวดเก็บน้ำนม
  3. กระติกน้ำแข็ง สำหรับในกรณีที่คุณแม่ต้องออกไปปั๊มนมนอกบ้าน และตู้เย็นเก็บสต็อคน้ำนมในบ้าน

ต่อมาเรามาเรียนรู้ ขั้นตอนการบีบน้ำนมจากเต้า กันต่อค่ะ

อันดับแรกเราต้องทำความสะอาดมือให้สะอาดหรือหากคุณแม่จะใช้เครื่องเครื่องปั๊มนมควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเสียทุกครั้ง และทำความสะอาดหัวนมและลานนม โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนมคือช่วงเช้ามืด ประมาณตี 5 – 7 โมงเช้า  เพราะในช่วงเวลานี้ร่างกายของคุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้มากที่สุดจึงเหมาะแก่การทำสต็อกน้ำนมแม่เก็บไว้ค่ะ การปั๊มนมในระยะแรกคุณแม่อาจจะปั๊มน้ำนมออกมาไม่ได้มาก ให้คุณแม่ทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันน้ำนมก็จะไหลออกมาเพิ่มมากขึ้นค่ะ ต่อมาบีบเป็นจังหวะหากใช้มือควร ย้ายตำแหน่งที่วางนิ้วมือไปรอบๆ เต้านม เพื่อบีบน้ำนมออกให้หมดทุกแห่ง บีบน้ำนมลงในขวดนมที่ต้มแล้ว หรือถุงพลาสติกที่สะอาด บีบน้ำนมสลับข้างทุกๆ 5 นาที หรือเมื่อน้ำนมไหลช้า เมื่อบีบน้ำนมเสร็จแล้วให้ใช้น้ำนม 2-3 หยด ป้ายหัวนมแต่ละข้าง ปล่อยให้แห้งแล้วจึงใส่ยกทรง เพื่อป้องกันหัวนมแห้ง

การเก็บนมแม่

* เก็บน้ำนมในปริมาณที่ทารกต้องการพอดีในแต่ละมื้อ

  • เก็บน้ำนมเสร็จควรปิดภาชนะให้มิดชิดทันที
  • ถ้าตั้งทิ้งเฉยๆ โดยไม่เข้าตู้เย็นเก็บได้ 4-6 ชั่วโมง
  • กระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งตลอดเวลาเก็บได้ 1 วัน
  • ไม่เก็บที่ประตูตู้เย็นเพราะความเย็นจะไม่คงที่

หากจะนำน้ำนมแม่ที่เก็บแช่เย็นมาใช้ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • นมที่เก็บในชั้นที่อยู่ใต้ช่องแชแข็งให้นำมาวางไว้นอกตู้เย็น เพื่อให้หายเย็นหากต้องการประหยัดเวลาให้แช่ด้วยน้ำอุ่นห้ามใช้น้ำร้อนจัด ห้ามอุ่นในเตาไมโครเวฟ เพราะจะทำให้สูญเสียภูมิต้านทานในน้ำนมแม่
  • นมที่เก็บในช่องแช่แข็งให้ใช้นมเก่าก่อน เมื่อจะนำมาใช้ให้ย้ายลงมาไว้ในชั้นที่อยู่ใต้ช่องแช่แข็งให้ละลายเองก่อน 1 คืน
  • นมที่ละลายหลังแช่แข็งแล้วไม่ควรนำไปแช่แข็งซ้ำอีก
  • นมที่ใช้ไม่หมดให้ทิ้งไป ไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อ

น้ำนมมารดา เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับทารกที่สุด มีสารอาหารครบถ้วน ประหยัด สะอาด ปลอดภัย ไม่มีการแพ้ และมีประโยชน์ในการช่วยต้านทานโรคต่างๆ

แม่ทำงานก็ให้นมแม่ได้

  • ตอนเช้าก่อนไปทำงานให้ลูกดูดนมแม่ให้อิ่ม
  • ให้ผู้ที่ดูแลทารก นำนมแม่ที่เตรียมไว้ใส่แก้วหรือขวดป้อนให้ทารก
  • ระหว่างทำงานแม่ควรบีบน้ำนมทุกครั้งเมื่อรู้สึกว่าเต้านมคัดหรือทุก 3 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมได้อย่างต่อเนื่อง
  • เก็บน้ำนมในตู้เย็นหรือกระติกน้ำแข็ง
  • นำกลับบ้านโดยแช่ในกระติกน้ำแข็ง
  • นำเก็บในตู้เย็นถ้าจะต้องใช้ในระยะ 1-2 วันให้เก็บไว้ใต้ช่องแช่แข็ง แต่ถ้าจะเก็บตุนไว้ในวันอื่นๆ ก็นำเข้าช่องแช่แข็ง
  • ถึงบ้านให้ลูกดูดนมแม่ให้อิ่ม
  • ถ้าไม่จำเป็นผู้ที่ดูแลทารกไม่ควรป้อนนมลูกในช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนแม่จะกลับ
  • ตอนเย็น ตอนกลางคืนและในวันหยุดให้ลูกดูดนมแม่ให้บ่อยที่สุด

ประโยชน์นมแม่

  • ในน้ำนมแม่มีสารอาหารและไขมันที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมองและเส้นใยสมอง
  • ไขมันในน้ำนมแม่มีการปรับเปลี่ยนตามระยะการเจริญเติบโตของทารก เช่น ในระยะที่สมองทารกกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว น้ำนมแม่จะมีปริมาณไขมันมากและมีโมเลกุลขนาดเล็ก ทำให้มีสัดส่วนของไขมันที่สำคัญต่อการสร้างสมองของทารก
  • ไขมันในน้ำนมแม่ถูกนำไปใช้ได้ดีเพราะในน้ำนมแม่มีน้ำย่อยไขมัน ซึ่งสารนี้ไม่มีในนมผสม
  • ทารกที่เลี้ยงดูด้วยนมแม่มีโอกาสเจ็บป่วยน้อยกว่าจึงไม่เสียโอกาสในการเจริญเติบโต
  • การโอบกอด พูดคุย การได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดและการสัมผัสจากแม่ในขณะให้นมลูกยิ่งช่วยกระตุ้นจุดเชื่อมต่อในสมองให้แข็งแรงขึ้น

ทารกในครรภ์เริ่มดิ้นเมื่อไหร่กันนะ ?

ครรภ์.jpg

ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่คนใหม่หรือคุณแม่ที่เคยมีลูกแล้ว เมื่อตั้งครรภ์สู่ไตรมาสสองมักจะรอวันที่ลูกเริ่มดิ้น เป็นความรู้สึกที่ประทับใจมากๆ เลยใช่ไหมคะ การดิ้นของทารกในครรภ์นั้นเป็นความรู้สึกของผู้เป็นแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทั้งหลาย โดยปกติในครรภ์แรก ลูกมักจะดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ และในครรภ์หลังๆ ลูกจะดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์  แต่กว่าคุณแม่จะรู้ ลูกในครรภ์ต้องมีขนาดที่โตและดิ้นแรงแล้วจึงจะรู้สึกได้ ถ้าลองถามเพื่อนๆ ที่ตั้งครรภ์บางคนในรุ่นราวคราวเดียวกัน อาจจะพบว่าตั้งครรภ์ 6 เดือนแล้ว ลูกก็ยังไม่ดิ้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีหน้าท้องหนา เพราะฉะนั้นเมื่อลูกยังไม่ดิ้นเมื่อถึงอายุครรภ์ที่กล่าวมา อาจจะยังไม่ต้องวิตกกังวล แต่ในทางตรงกันข้ามก็อย่าชะล่าใจมากเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุก็น่าจะดีนะคะ

เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นคุณจะรู้สึกว่าลูกดิ้นบ่อยขึ้นและแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ไตรมาศ 3 การนับการดิ้นของลูกต้องนับเมื่อเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 28 ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มแรก โดยการนับให้นับช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละวัน ให้นอนตะแคงซ้าย และให้นับว่าเด็กดิ้น 10 ครั้งใช้เวลานานเท่าใด ลูกจะดิ้นบ่อยเมื่อเวลาที่คุณแม่รับอาหารโดยเฉพาะ อาหารที่หวาน อาหารที่เย็น หรือหลังจากที่คุณแม่มีกิจกรรม และประมาณสามทุ่มถึงตีหนึ่งเนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำ

วิธีการนับลูกดิ้น

การนับลูกดิ้นมีสำคัญมากเพราะจะเป็น ตัวช่วยประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์และเป็นการป้องกันเด็กตายในครรภ์มารดา ซึ่งการนับมีวิธีดังนี้

วิธีที่ 1   วิธีการนับครบสิบ

ให้นับลูกดิ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ให้ครบ 10 ครั้ง โดยบันทึกเวลาที่เริ่มนับ และเวลาที่ครบ 10 ครั้ง

การแปลผล  หากทารกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 12 ชั่วโมง   ถือว่าผิดปกติต้องมาพบ        แพทย์ทันที และต้องได้รับการตรวจวิธีอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์โดย      การประเมินการเต้นหัวใจทารก

วิธีที่ 2  นับหลังอาหาร (Sadovsky)

ให้นับลูกดิ้นวันละ 3 เวลาหลังอาหารมื้อเช้า กลางวัน เย็น เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง (โดยประมาณ 12 ชั่วโมง  08.00 – 20.00 น.) รวมการดิ้นทั้งสามเวลา

การแปลผล  ถ้าทารกดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่อไปอีก 1 ชั่วโมง หากดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้งใน 2 ชั่วโมง ต้องมาพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมต่อไป

 คำแนะนำเมื่อสังเกตว่าทารกดิ้นน้อยลง

  1.   หากนับลูกดิ้นตามวิธีใดวิธีหนึ่งดังกล่าวแล้ว พบว่าน้อย ให้รีบมาพบแพทย์ทันที ในระหว่างมาโรงพยาบาล มารดาควรงดน้ำและอาหารไว้ก่อน กรณีที่มีเหตุฉุกเฉินต่อทารกและจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดด่วน จะสามารถทำได้ทันท่วงที
  2.   หากได้รับการตรวจจากแพทย์ และตรวจสุขภาพทารกเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นแล้วพบว่าทารกปกติ ก็ยังจำเป็นต้องนับลูกดิ้นต่อไปตลอดการตั้งครรภ์
  3.   ฝากครรภ์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
  4.   รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  5.  งดดื่มสุรา ,สูบบุหรี่ ,งดอาหารหมักดอง
  6.  สตรีตั้งครรภ์ควรระลึกไว้เสมอว่า การตรวจสุขภาพทารกไม่ว่าวิธีใดก็ไม่สามารถประกันได้ว่าสุขภาพทารกดี 100 % อาจพบการตายของทารกในครรภ์ได้ประมาณ 1.9 ต่อ 1,000 ราย ที่เกิดขึ้นใน 1 สัปดาห์ หลังการตรวจสุขภาพ ทารกโดยดูอัตราการเต้นของหัวใจทารกปกติก็ตาม

หากว่าทารกในครรภ์เคลื่อนไหวน้อยหรือไม่เคลื่อนไหว เป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าทารกจะมีปัญหาสุขภาพหรือตกอยู่ในอันตราย เช่น ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางหรือขาดออกซิเจนหรือรกทำงานผิดปกติ ไม่สามารถส่งถ่ายอาหารหรือแลกเปลี่ยนกาซที่จำเป็นต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นหากแม่ตั้งครรภ์รู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงจากที่เคยดิ้นดี โดยเฉพาะเมื่อตั้งใจสังเกตการดิ้นเป็นเวลานาน 30 นาที และพบว่าทารกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งแล้วล่ะก็ ควรที่จะปรึกษาสูติแพทย์ในทันทีค่ะ

การเจาะตรวจน้ำคร่ำ(Amniocentesis)

การเจาะ.jpg

สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ทุกคนคงคาดหวังว่าบุตรในครรภ์จะต้องเกิดมาเป็นเด็กที่ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงและมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์  การเจาะน้ำคร่ำนั้นจึงเป็นหัตถการที่ทำกันมากที่สุดในการหาความผิดปกติของโครโมโซมทารกก่อนคลอด ได้ดีทีเดียว  การเจาะน้ำคร่ำนั้นทำเพื่อการวินิจฉัยความผิดปกติบางอย่างของทารกได้ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซมบางอย่าง เช่น ภาวะปัญญาอ่อนแบบกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)  โรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดทางลักษณะเพศชาย (sex-linked disorders) เช่น ฮีโมฟิเลีย (โรคเลือดออกง่าย ชนิดหนึ่งที่จะเป็นในเฉพาะเพศชาย)หรือโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของไขสันหลัง เช่น spina bifida เป็นต้น

การเจาะตรวจน้ำคร่ำจะทำในช่วงเวลาที่ทารกมีปริมาณน้ำคร่ำมากเพียงพอ อายุครรภ์ที่เหมาะสมคือ ประมาณ 16 ถึง 20 สัปดาห์ในช่วงเวลาดังกล่าว ทารกจะมีน้ำคร่ำประมาณ 200 ซีซี  โดยการใช้เข็มขนาดเล็กผ่านทางหน้าท้องของมารดาเข้าไปในถุงน้ำคร่ำของทารกระหว่างเจาะจะเห็นภาพจากจอภาพอัลตร้าซาวด์ตลอดเวลา แพทย์จะเก็บน้ำคร่ำไปตรวจประมาณ 20 ซีซี น้ำคร่ำจำนวนนี้ทารกจะสร้างขึ้นใหม่ภายในเวลาประมาณ 24 ชม. ปริมาณน้ำคร่ำที่ลดลงไปชั่วคราวนี้ไม่มีผลกระทบใดๆต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ ในน้ำคร่ำที่ได้มาจะมีเซลล์ของทารกปะปนอยู่ สามารถนำเซลล์เหล่านี้เพาะเลี้ยงและตรวจดูจำนวนโครโมโซมต่อไป  แม้ว่าการตรวจจะกระทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ปลอดเชื้ออย่างถูกต้องตามมาตรฐานแล้วก็ตาม ก็ยังมีรายงานภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ภายหลังการตรวจภาวะแทรกซ้อนที่พบได้เช่น มีการติดเชื้อของรกและถุงน้ำคร่ำ มีเลือดออกทางช่องคลอด น้ำเดินก่อนกำหนด ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ในที่สุดนำไปสู่การสูญเสียทารกในครรภ์ โดยทั่วไปโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตรที่เกี่ยวเนื่องจากเจาะตรวจน้ำคร่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5 (1 ใน 200)

โดยทั่วไปแล้วการเจาะน้ำคร่ำนั้นไม่จำเป็นต้องเจาะทุกคน เพราะการเจาะน้ำคร่ำนั้นเหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะดังนี้

  1. หญิงตั้งครรภ์ที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปนับถึงวันกำหนดคลอดมีโอกาสที่ทารกในครรภ์เป็นภาวะกลุ่มอาการดาวน์ได้มากขึ้น
  2. หญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีบุตรที่มีความผิดปกติของโครโมโซมในครรภ์ก่อน
  3. หญิงตั้งครรภ์และสามีที่มีโคโมโซมผิดปกติ
  4. หญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการแท้งเป็นอาจิณ
  5. หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการตรวจคัดกรองทางชีวเคมีแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่ทารกในครรภ์จะมีความผิดปกติของโคโมโซม
  6. หญิงตั้งครรภ์ที่พบความผิดปกติของทารกในครรภ์ จากการตรวจคลื่นความถี่สูง(อัลตราซาวด์)
  7. ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า

เมื่อผลจากการตรวจเจาะน้ำคร่ำออกแล้วนั้น แพทย์จะให้คำปรึกษาแนะนำแก่ท่านและสามี ถึงผลการตรวจและความผิดปกติของทารกที่เกิดขึ้นได้  แนวทางการรักษา ทางเลือกในการดูแลตั้งครรภ์ต่อไป โดยขึ้นกับการตัดสินใจของท่านและสามีเป็นสำคัญ แพทย์ผู้ให้คำปรึกษาจะดูแลต่อไปตามความเหมาะสม กรณีผลโครโมโซมของทารกผิดปกติ ก็ไม่ได้ยืนยันว่าทารกจะปกติ สมบูรณ์แข็งแรง เพราะความผิดปกติบางอย่างของทารกก็ไม่จำเป็นต้องมีโครโมโซมผิดปกติร่วมด้วยเสมอไป

โรคหัวใจขาดเลือด ( Ischemic Heart Disease)

โรคหัวใจ.jpg

โรคหัวใจขาดเลือด ( Ischemic Heart Disease ) หมายถึง ภาวะที่หลอดเลือดแดง (Coronary Artery) ที่เลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื่องจากมีการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดตามวัย มีไขมันและหินปูนเกาะที่ผนังชั้นในของหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและหนาขึ้น ไม่ยืดหยุ่น ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการตีบแคบ หรือตัน เลือดจึงไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยจะมีอาการ เจ็บหน้าอกบีบรัด และแน่นอึดอัด ที่บริเวณหน้าอกไม่ต่ำกว่าสะดือ บางรายรู้สึกเหมือนกดทับ แสบร้อน จุกขึ้นคอ บางครั้งมีอาการปวดร้าวไปหัวไหล่ซ้าย หรือกราม 2 ครั้ง เหงื่อแตก มักพบในวัยกลางคน หรือ สูงอายุ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเมื่อออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก เครียด อาการทุเลา เมื่อได้พัก บางรายมีอาการในขณะพัก และอาจมีภาวะหัวใจวาย จนทำให้เสียชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ คือ

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ มี  3 ปัจจัย

1 เพศ เพศชายทีความเสียงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบตันมากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นในหญิงวัยหมดประจำเดือน

2 ปัจจัยทางพันธุกรรมและเชื้อชาติ

3  อายุ เพศชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบัน 35 ปีขึ้นไปก็เริ่มเสี่ยงแล้ว เพราะมีปัจจัยแวดล้อมเสริม เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ อดนอน กินอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีไขมันมาก ส่วนผู้หญิงจะมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้น ไปเนื่องจากดูแลตัวเองดี และมักเลือกกินอาหารเพราะกลัวอ้วน และมีฮอร์โมนเพศหญิงช่วยคุมไขมัน

  • ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น  ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน  ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคอ้วน  การออกกำลังกาย  โรคเครียด  การพักผ่อน

การวินิจฉัย

เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ต้องไปพบแพทย์ทันที แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการบอกเล่าของผู้ป่วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (E C G) และการตรวจเลือด ในกรณีที่ไม่ชัดเจน หรือแพทย์ต้องการทราบถึง ความรุนแรงของโรค แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่ม คือ การเดินสายพาน เพื่อทดสอบสมรรถภาพของหัวใจ การตรวจอัลตร้าซาวน์หัวใจ และการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ

วิธีการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากอาการความรุนแรงของโรคมี 3 วิธี ต้องรักษาควบคู่กันไป คือ

  1. การรับประทานยา เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน ยาขยายหลอดเลือด เช่น ไนโตรกลีเซอรีน บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก หากมีภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ อาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ มีอาการบวม จะให้ยาขับปัสสาวะ ให้ออกซิเจน เป็นต้น และการใช้ยาเพื่อรักษาควบคุมโรคประจำตัวต่างๆของผู้ป่วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
  2. การเปลี่ยนแปลงกิจวัตร บางอย่าง  เช่นการรับประทานอาหาร ภาวะทางอารมณ์(ความเครียด) พฤติกรรมสูบบุหรี่ เป็นต้น
  3.  การใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ เป๋นการรักษาประคับประคอง การที่จะได้ผลดีมากหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยต้องดำเนินกิจวัตรที่ถูกต้อง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ หรือ มีข้อสงสัยอื่นๆ

 

วิธีการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด การดูแลหลอดเลือดหัวใจให้แข็งแรงด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

– หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ   อย่างน้อง 3-4 ครั้ง ต่อ สัปดาห์

– ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสะสม หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

–  ควบคุมน้ำหนัก  เพราะ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทำให้หัวใจทำงานมากขึ้นเต้นเร็วขึ้น ต้องการเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น การลดน้ำหนักจะต้องลดอย่างต่อเนื่อง

-งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด บุหรี่ทำให้หลอดเลือดตีบลงและปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลง ทำให้อาการเจ็บหน้าอกเลวลง การงดสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจตั้งแต่แรก และภายใน 5 ปี อัตราเสี่ยงจะลดลงมาราวกับไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน

– ควรพักผ่อนให้เพียงพอ

–  ลดความเครียด เมื่อเกิดภาวะเครียด หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้น ต้องการเลือดและออกซิเจนเพิ่มขึ้น อาจเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้ ต้องพยายามระงับอารมณ์ ทำจิตใจให้สงบ นึกคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ในทางที่ดี

– ควรตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด และการวัดความดันโลหิต

– ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือด

– ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกแบบผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว

ตากับใบหน้ากระตุก…จะร้ายหรือจะดี

13407236_1137092739645806_8246974306615801190_n

เมื่อตากระตุกหลายๆคนก็จะคิดว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี”แต่ ทราบหรือไม่ว่าอาการกระตุกบนใบหน้าเกิดจากสาเหตุอะไร วันนี้เราจะมาทราบถึงสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน โรคกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ดังนี้

ตากระตุก หรือที่เรียกว่า ตาเขม่น

เป็นภาวะที่มีการกระตุกของกล้ามเนื้อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว เช่น ใต้หนังตา มุมปากหรือ เฉพาะกล้ามเนื้อรอบลูกตาข้างใดข้างหนึ่ง ภาวะนี้ในบางรายอาจเกิดเป็นประจำ จนอาจติดเป็นนิสัยได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความเครียด หรือกังวล รวมทั้งการพักผ่อนไม่เพียงพอ

ตากะพริบค้าง

ผู้ป่วยจะมีตากะพริบทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อรอบลูกตาหดเกร็งตัวตลอดเวลา ในผู้ป่วยกลุ่มนี้เราสามารถแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ กะพริบตาถี่ ๆ หรือกะพริบตาปิดค้างและลืมตาไม่ขึ้น

ใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

ภาวะนี้เป็นความเคลื่อนไหวผิดปกติที่พบบ่อยในคนไทย โดยจะพบว่ากล้ามเนื้อใบหน้าทั้งซีกที่เลี้ยงด้วยประสาทสมองคู่ที่ 7 จะมีการกระตุกถี่ ๆ และเกร็งค้าง อาการของโรคนี้จะก่อให้เกิดความรำคาญและทำให้ผู้ป่วยอายไม่กล้าเข้าสังคม อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อตื่นเต้น กังวล

อาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าบริเวณแนวตรงกลางทั้งหมด

มีอาการตากะพริบค้างร่วมกับการเคลื่อนไหวผิดปกติของปาก จมูกและคิ้วร่วมด้วย กลุ่มอาการนี้ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวผิดปกติชนิดดีย์สโทเนีย

การเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อบริเวณรอบปาก คาง และลิ้น

จะมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาของปาก คาง และลิ้น ภาวะนี้ส่วนมากเกิดจากการแพ้ยากลุ่มยากล่อมประสาทหลัก หรือยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน ซึ่งโดยมากมักจะพบในผู้สูงอายุ

ในอดีตได้มีการรักษาโรคนี้ทางยาและการผ่าตัด โดยยาที่ใช้มีหลายชนิด(  มีตัดบางส่วนออกไป )แต่ได้ผลบ้างเล็กน้อย ไม่ดีเท่าที่ควรและมีผลข้างเคียง  เช่น  ง่วง  แพ้ยา  เป็นต้น  ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยในโรคนี้ คือ การใช้สารโบทูลินัม เอ ทอกซินฉีดเข้าไปในร่างกาย ซึ่งจะรักษาโรคได้เพียงชั่วคราว ประมาณ 2-4 เดือน และผู้ป่วยจำเป็นต้องกลับมารับการรักษาซ้ำ วิธีการฉีดนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัย และยังได้ผลดีขึ้นถึง 70-75 % ไม่เสี่ยงต่อชีวิตของผู้ป่วย เหมือนการผ่าตัด แต่ก็มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยสารโบทูลินัม เอ ทอกซิน คือ มีราคาแพง ฤทธิ์ของยาอยู่ได้เพียงชั่วคราวต้องกลับมาฉีดซ้ำอีก และมีผลแทรกซ้อนของการฉีด ได้แก่ ตาแห้ง น้ำตาไหลเยอะ หนังตาตก ตาสู้แสงไม่ได้ เห็นภาพซ้อน เลือดออกบริเวณที่ฉีด ปากเบี้ยว ฝืดคอ และมีผื่นตามลำตัว แต่อาการทั้งหมดจะเป็นเพียงชั่วคราวแล้วจะค่อย ๆ หายเอง

ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไร โรคต่าง ๆ ก็สามารถถามหาคุณได้ ก่อนที่อะไรจะสายเกินแก้หันมาใส่ใจ ดูแล รักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรงตลอดไปกันดีกว่า เพียงแค่ตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้คุณก็มีร่างกายที่แข็งแรงไปอีกนาน

อาการเวียนศีรษะ (Vertigo)

13177452_1125530387468708_3219309341120670975_n

อาการเวียนศีรษะ (Vertigo) เกิดจาการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาทควบคุมการทรงตัว โดยเฉพาะระบบประสาทบริเวณสมอง รอยโรคอาจอยู่ตรงหูชั้นในส่วนที่เรียกว่าเวสติบูล่าร์ (vestibular)หรือตรงเส้นประสาทที่ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมทรงตัว ณ บริเวณก้านสมองหรือสมองน้อยตรงส่วนท้ายทอย (Brain stem or Cerebellar) ดังนั้นอาการเวียนศีรษะไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคสมองเสมอไป และโรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะมีมากมายหลายโรคแต่โรคที่พบบ่อยเกิดจากความผิดปกติส่วนเวสติบูลาร์ได้แก่

  • โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดมาอยู่ผิดที่ BPPV (Benign Paroxysmal Positional Vertigo)
  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (โรคมินิแอร์ Meniere’s disease)
  • โรคเส้นประสาทหูส่วนเวสติบูล่าร์อักเสบ (Vestibular Neuronitis)
  • โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน

โรคเวียนศีรษะ จากตะกอนหูชั้นในหลุดมาอยู่ผิดที่ (BPVV) เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุด มักพบมากในช่วงอายุ 40 ขึ้นไปผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะเมื่อเปลี่ยนอิริยาบทหรือหันศีรษะโดยอาการเวียนจะเกิดขึ้นประมาณ 30-60 นาที และอาจเกิดซ้ำใหม่ได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเวียนศีรษะตอนตื่นนอน ตลอดจนการทำกิจกรรมต่างๆระหว่างวันและยังพบอาการร่วมเช่นการอาเจียน ใจสั่น เป็นต้น โดยมีการรักษา  คือ  การให้แพทย์จัดท่าเพื่อให้ตะกอนหินปูนกลับเข้าที่เดิม และ ตรวจวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้

หากมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการอื่นๆดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • ระดับความรู้สึกตัวลดลงหรือหมดสติ
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน
  • การได้ยินเสียงผิดปกติ
  • พูดไม่ชัด กลืนลำบาก
  • แขนขาอ่อนแรง
  • ชา ระดับความรู้สึกสัมผัสผิดปกติ
  • เดินเซผิดปกติ

ควรมาพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หาโรคร้ายแรงอื่นๆ โดยเร็ว

โรคลมชัก (Epilepsy)

โรคลมชัก ( Epilepsy )  เกิดจากความผิดปกติของการนำกระแสไฟฟ้าภายในสมอง มักจะเป็นพักๆ (ช่วงเวลาสั้นๆ) และมีโอกาสเป็นซ้ำสูง ยกเว้น ภาวะชักต่อเนื่อง (Status Epitlepticus)

epilepsie-chronische-erkrankung

ในอดีตคนไทยเรียกโรคนี้ว่า    “โรคลมบ้าหมู”     แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า   “โรคลมชัก”  และในอนาคตมีแนวโน้มจะเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า เป็น   “โรคคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ (Abnormal brain wave)”

สาเหตุของการเปลี่ยนชื่อ เนื่องจากอาการของโรคลมชักไม่จำเป็นต้องมีอาการชักเกร็ง หรือกล้ามเนื้อกระตุกเสมอไป   อาการผิดปกติที่พบบ่อยสุด  คือ  อาการเหม่อลอย ตาค้างหรือ ตาเหลือก และเรียกไม่รู้สึกตัว    ดังนั้น การวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักอาจสร้างความเข้าใจผิด  ว่าต้องมีอาการชักเกร็ง กระตุกของร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคม   รวมถึงการดำเนินชีวิต และ การประกอบอาชีพของผู้ป่วย

อาการของโรคลมชักหรือโรคลมบ้าหมู

download

ผู้ป่วยมีอาการหมดสติอย่างไม่ทราบสาเหตุพร้อมกล้ามเนื้อเกร็ง หายใจลำบาก  จากนั้นจะกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายจะกระตุกเป็นระยะ  และมีอาการตาค้าง ตาเหลือก ระหว่างชักจะมีน้ำลายฟูมปากและอาจมีเลือดออก  เนื่องจากกัดริมฝีปาก  หรือลิ้นตัวเอง รวมถึงอาจมีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระราด      โดยอาการชักจะเป็นอยู่นานประมาณ  1-3 นาที   แต่ในบางรายอาจนานถึงครึ่งชั่วโมง เมื่อฟื้นจะรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้  บางรายอาจหลับเป็นชั่วโมงๆ   แต่บางรายอาจเกิดการชักซ้ำๆ  ติดกันนานเป็นชั่วโมงและมีไข้สูง  ( Status Epilepticus) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุที่พบได้บ่อย (Common etiology)  คือแผลเป็น (gliosis)   ที่เกิดขึ้นบนผิวสมอง ซึ่งอาจเกิดจากโรคติดเชื้อภายในสมอง (เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) หรือเกิดหลังประสบอุบัติเหตุทางสมอง และภายหลังจากมีเลือดออกในสมอง หรือ หลอดเลือดสมองตีบตัน เนื้องอกภายในสมอง ภาวะชักซ้ำๆ หรือ ภาวะชักต่อเนื่อง สามารถพบในสมองเด็กที่กำลังเจริญเติบโตที่อยู่ในกลุ่มอาการโรคลมชักในเด็ก (Epilepsy syndrome) รวมถึงอาหารชัก เนื่องจากไข้สูงในเด็ก หรือแม้กระทั่งสมองของผู้สูงอายุที่มีรอยเหี่ยวย่น  ผิดปกติ  อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 10-20 % ที่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติใดๆภายในสมอง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างถูกต้อง

 

การวินิจฉัยและการสืบค้นในโรคลมชัก (Diagnosis and investigation)

ผู้ป่วยจะต้องมีการชักโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้นมากกว่า  2  ครั้งขึ้นไป หรือชักครั้งแรกแต่มีโอกาสที่จะชักซ้ำสูง  ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการชักครั้งแรก     จำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินว่าจะมีโอกาสชักซ้ำมากเท่าใด รวมทั้งหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชัก  ซึ่งการประเมินดังกล่าว  ต้องอาศัยการซักประวัติ       การตรวจร่างกาย   การตรวจเลือด     การตรวจภาพวินิจฉัยสมอง (CT or MRI brain)  และ ที่สำคัญที่สุด คือ   การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)     ส่วนการตรวจน้ำในไขสันหลัง  (CSF analysis)  จะทำเฉพาะบางกรณี เช่น  เมื่อแพทย์สงสัยภาวะติดเชื้อในระบบประสาท

การรักษาโรคลมชัก

ประกอบด้วย การรับประทานยากันชัก (Anti-epileptic drug)  และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ได้แก่  การอดนอน การออกกำลังกายหักโหม หิวหรือทานอาหารมากเกินไป  การใช้ยาบางชนิด   การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด ยากระตุ้นประสาท  มีภาวะตึงเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ     ซึ่งถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะสามารถหายขาดจากโรคลมชักโดยประมาณ 60 -70 %   ส่วนกลุ่มที่เหลืออีก 30 % เรียกว่าภาวะที่ดื้อต่อยากันชัก ซึ่งปัจจุบันสามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัด

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดรักษาโรคลมชักมีอีกหลากหลายวิธี ซึ่งมีความจำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละราย จึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลโรคลมชักเป็นหลักจะสามารถแนะนำวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยได้

การดูแล หรือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First aid)

get

  • เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย ระวังไม่ให้ศีรษะกระแทก
  • ดูแลให้นอนตะแคง เพื่อป้องกันการสำลัก ห้ามใส่อะไรเข้าไปในปากผู้ป่วย
  • อย่างัดหรือฝืนร่างกายผู้ป่วยขณะเกร็ง เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายผู้ปวย
  • รีบนำส่ง รพ. หรือ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

 

ข้อมูลจาก ศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี โทร 1645

http://thonburihospital.com/2015_new/โรคลมบ้าหมู_.html