โรคหัวใจขาดเลือด ( Ischemic Heart Disease)

โรคหัวใจ.jpg

โรคหัวใจขาดเลือด ( Ischemic Heart Disease ) หมายถึง ภาวะที่หลอดเลือดแดง (Coronary Artery) ที่เลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื่องจากมีการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดตามวัย มีไขมันและหินปูนเกาะที่ผนังชั้นในของหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและหนาขึ้น ไม่ยืดหยุ่น ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการตีบแคบ หรือตัน เลือดจึงไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยจะมีอาการ เจ็บหน้าอกบีบรัด และแน่นอึดอัด ที่บริเวณหน้าอกไม่ต่ำกว่าสะดือ บางรายรู้สึกเหมือนกดทับ แสบร้อน จุกขึ้นคอ บางครั้งมีอาการปวดร้าวไปหัวไหล่ซ้าย หรือกราม 2 ครั้ง เหงื่อแตก มักพบในวัยกลางคน หรือ สูงอายุ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเมื่อออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก เครียด อาการทุเลา เมื่อได้พัก บางรายมีอาการในขณะพัก และอาจมีภาวะหัวใจวาย จนทำให้เสียชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ คือ

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ มี  3 ปัจจัย

1 เพศ เพศชายทีความเสียงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบตันมากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นในหญิงวัยหมดประจำเดือน

2 ปัจจัยทางพันธุกรรมและเชื้อชาติ

3  อายุ เพศชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบัน 35 ปีขึ้นไปก็เริ่มเสี่ยงแล้ว เพราะมีปัจจัยแวดล้อมเสริม เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ อดนอน กินอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีไขมันมาก ส่วนผู้หญิงจะมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้น ไปเนื่องจากดูแลตัวเองดี และมักเลือกกินอาหารเพราะกลัวอ้วน และมีฮอร์โมนเพศหญิงช่วยคุมไขมัน

  • ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น  ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน  ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคอ้วน  การออกกำลังกาย  โรคเครียด  การพักผ่อน

การวินิจฉัย

เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ต้องไปพบแพทย์ทันที แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการบอกเล่าของผู้ป่วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (E C G) และการตรวจเลือด ในกรณีที่ไม่ชัดเจน หรือแพทย์ต้องการทราบถึง ความรุนแรงของโรค แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่ม คือ การเดินสายพาน เพื่อทดสอบสมรรถภาพของหัวใจ การตรวจอัลตร้าซาวน์หัวใจ และการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ

วิธีการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากอาการความรุนแรงของโรคมี 3 วิธี ต้องรักษาควบคู่กันไป คือ

  1. การรับประทานยา เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน ยาขยายหลอดเลือด เช่น ไนโตรกลีเซอรีน บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก หากมีภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ อาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ มีอาการบวม จะให้ยาขับปัสสาวะ ให้ออกซิเจน เป็นต้น และการใช้ยาเพื่อรักษาควบคุมโรคประจำตัวต่างๆของผู้ป่วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
  2. การเปลี่ยนแปลงกิจวัตร บางอย่าง  เช่นการรับประทานอาหาร ภาวะทางอารมณ์(ความเครียด) พฤติกรรมสูบบุหรี่ เป็นต้น
  3.  การใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ เป๋นการรักษาประคับประคอง การที่จะได้ผลดีมากหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยต้องดำเนินกิจวัตรที่ถูกต้อง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ หรือ มีข้อสงสัยอื่นๆ

 

วิธีการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด การดูแลหลอดเลือดหัวใจให้แข็งแรงด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

– หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ   อย่างน้อง 3-4 ครั้ง ต่อ สัปดาห์

– ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสะสม หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

–  ควบคุมน้ำหนัก  เพราะ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทำให้หัวใจทำงานมากขึ้นเต้นเร็วขึ้น ต้องการเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น การลดน้ำหนักจะต้องลดอย่างต่อเนื่อง

-งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด บุหรี่ทำให้หลอดเลือดตีบลงและปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลง ทำให้อาการเจ็บหน้าอกเลวลง การงดสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจตั้งแต่แรก และภายใน 5 ปี อัตราเสี่ยงจะลดลงมาราวกับไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน

– ควรพักผ่อนให้เพียงพอ

–  ลดความเครียด เมื่อเกิดภาวะเครียด หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้น ต้องการเลือดและออกซิเจนเพิ่มขึ้น อาจเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้ ต้องพยายามระงับอารมณ์ ทำจิตใจให้สงบ นึกคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ในทางที่ดี

– ควรตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด และการวัดความดันโลหิต

– ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือด

– ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกแบบผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว

Leave a comment